Friday, January 21, 2011

Thai News 1-20-11






______________________________________

สถานการณ์สินค้ากุ้งในสหรัฐฯเดือน พย. ๒๕๕๓
การนำเข้า

การนำเข้ารวมในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ เป็นปริมาณ ๑๒๗.๗ ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น ๙% จากเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๒ มีแนวโน้มว่าการนำเข้ารวมทั้งปีจะสูงกว่า การนำเข้ารวมปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีปริมาณ ๑.๒๑ พันล้านปอนด์ ทั้งนี้ตัวเลข ๑๑ เดือนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ เป็นปริมาณ ๑.๑๒ ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น ๑.๓%จากปี ๒๕๕๒

การนำเข้าในปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมาค่อนข้างขึ้นๆลงๆ แต่ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะมีอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นติดต่อกันใน ๕ เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน โดยก่อนหน้าเดือนมิถุนายน การนำเข้าลดลงทุกเดือนติดต่อกันถึง ๑๐ เดือน

ในระหว่างแหล่งนำเข้า ๘ อันดับแรก มีเพียง ๒ ประเทศเท่านั้นที่มีการส่งออกมาสหรัฐฯตกลงใน ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๕๕๓ คือ อินโดเนเซีย และเม็กซิโก โดยการนำเข้าจากอินโดเนเซียลดลง ๑๓.๙% เป็น ๑๒๓.๑ ล้านปอนด์ และจากเม็กซิโกลดลง ๔๔.๒% เป็น ๔๖.๘ ล้านปอนด์
การนำเข้าจากประเทศไทยยังคงนำลิ่วครองอันดับหนึ่ง โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้น ๕.๘% ใน ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๕๕๓ เป็นปริมาณ ๔๐๐ ล้านปอนด์

การผลิตในประเทศ
สถานการณ์การผลิตในประเทศปี ๒๕๕๓ ค่อนข้างวิกฤติ บางรายต้องปิดกิจการ บางรายต้องหยุดกิจการเป็นเวลานาน สาเหตุใหญ่มาจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก ทำให้ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต้องประกาศปิดการทำประมงในช่วงที่น่าจะเป็นเป็นฤดูกาลออกเรือที่ดีที่สุดของชาวประมง คือ พค.-กค. ๒๕๕๓ ซึ่งคาดกันว่าทำให้ผลผลิตลดลงประมาณ หนึ่งในสามหรือหนึ่งในสี่

อย่างไรก็ตาม กระทรวงทรัพยากรทางทะเล (Department of Marine Resources - DMR) มีความหวังว่า หลังจากเปิดน่านน้ำในปีนี้แล้ว อุตสาหกรรมน่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว

การพัฒนาวัคซีนฆ่าเชื้อในกุ้ง
มหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอโอวา (Iowa State University) ประกาศว่าศาสตราจารย์(ด้าน Animal Science) Hank Harrisได้ลงนามในสิทธิบัตรและข้อตกลงด้านการตลาดสำหรับวัคซีน๒ ชนิดที่จะใช้ในการทำฟาร์มกุ้งทั่วโลก

ศาสตราจารย์ Hank Harris ประธานบริษัท Harrisvaccines หนึ่งในบริษัทที่ช่วยการพัฒนาวัคซีนขึ้นมา ได้บรรลุข้อตกลงกับ ผู้ผลิตอาหารทะเลจากฟาร์มรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของเอเซีย ในความร่วมมือด้านวิจัย สนับสนุน และการตลาดผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลมาจากการวิจัย

การวิจัยจะมุ่งพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสกุ้ง White Spot และ Infectious Myonecrosis แต่ในขณะที่การคิดค้นวัคซีนได้พัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ ทำอย่างจะให้วัคซีนเข้าไปในกุ้งแต่ละตัวได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงบ่อเพาะกุ้งที่มีกุ้งขนาดเท่ายุง จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ตัว ปัจจุบันบริษัทกำลังคิดที่จะใช้วิธีใส่เข้าไปในอาหารกุ้ง หรือน้ำในบ่อกุ้ง


นางสมจินต์ เปล่งขำ
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
๒๐ มกราคม ๒๕๕๔
ข้อมูลจาก SeafoodSource.com

______________________________________________

ผลกระทบต่อร้านอาหารไทยในสหรัฐฯเรื่อง ก.เกษตรฯจะระงับการส่งออกชั่วคราวสินค้าเกษตร ๕ กลุ่ม

ตามที่มีข่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะระงับการส่งออก สินค้าเกษตร ๕ กลุ่ม เป็นการชั่วคราว ได้แก่ พืชสกุล Ocimum spp. (กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า) พืชสกุล Capsicum spp. (พริกหยวก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู) พืช Solanum melongena (มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขืองเหลือง มะเขือขาว มะเขือขื่น) พืช Momordica charantia (มะระจีน มะระขี้นก) พืช Eryngium fortidum (ผักชีฝรั่ง) ทั้งนี้โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ อันเนื่องมาจาก สหภาพยุโรปตรวจพบศัตรูพืชติดไปกับสินค้าพืชผักส่งออกจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง นั้น

การระงับการส่งออกสินค้าดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหภาพยุโรป เนื่องจากสินค้าเกษตรทั้ง ๕ กลุ่ม เป็นส่วนผสมหลักในการปรุงอาหาร และเนื่องด้วยสภาพดินฟ้าอากาศในยุโรป โดยเฉพาะในขณะนี้ซึ่งเป็นฤดูหนาวที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้เอง ส่วนใหญ่ต้องมีการนำเข้าโดยทางเครื่องบิน เพื่อให้ได้สินค้าที่สดมาใช้ในกิจการร้านอาหารในวันรุ่งขึ้นได้ทันที

ในสหรัฐอเมริกา จากการสอบถามผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในเขตดูแลของสคร. นิวยอร์ก พบว่า หากมีการระงับการส่งออกสินค้าดังกล่าวจริง ผลกระทบคงจะมีบ้างแต่ไม่รุนแรงเท่าในสหภาพยุโรป เนื่องจากสินค้าดังกล่าว ๙๐% สั่งตรงจากพ่อค้าคนกลาง ที่เป็นคนจีนและคนลาว ที่รับมาจากทางฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และทางตอนใต้แถบไมอามี่ และประเทศในหมู่กาะแคริบเบียน ซึงมีพื้นที่สามารถเพาะปลูกได้เอง เช่น พืชสกุล Ocimum spp. และ Capsicum spp. ส่วนพืข Solanum melongena มีเพียงร้านอาหารไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้มะเขือเปราะเป็นส่วนผสมของอาหารจำพวกแกง อาจจะประสบปัญหาขาดแคลนอยู่บ้าง แต่สินค้าเหล่านี้ไม่ได้ส่งตรงมาจากประเทศไทย

ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในเขตดูแลของสคร. นิวยอร์ก ยังได้กล่าวถึงปัญหาที่พบอยู่ ณ ช่วงเวลานี้คือ ข้าว กะทิ กะเพรา และโหระพา ที่ปรับราคาเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และนับว่าเป็นสินค้าที่ขาดแคลน ผู้ประกอบการฯ หลายร้านเริ่มมีการกักตุนสินค้าดังกล่าว เพราะคาดว่าราคาน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้สาเหตุหลักน่าจะมาจากการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับสกุลดอลล่าร์ ทำให้ผู้ส่งออกไทยเริ่มปรับราคาสินค้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากการระงับการส่งออก สินค้าเกษตร ๕ กลุ่มเป็นเพียงการระงับชั่วคราว ประเทศไทยยังสามารถที่จะแก้ไขและปรับปรุงคุณภาพของสินค้าฯ และส่งออกได้อีกในอนาคต ก็น่าจะเป็นปัญหาเฉพาะระยะสั้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
๒๐ มกราคม ๒๕๕๔

___________________________________________

นิวยอร์กประกาศหกมาตรการเพื่อให้เป็นศูนย์กลางแฟชั่นในทศวรรษหน้า

Mayor Bloomberg, Deputy Mayor for Economic Development Robert K. Steel, และPresident Seth W. Pinsky ประกาศ หกมาตรการเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตในระยะยาวของอุตสาหกรรมแฟชั่นมูลค่า๕๕,๐๐๐ ล้านเหรียญของมหานครนิวยอร์ก โดยมีชื่อว่า Fashion NYC ๒๐๒๐ เพื่อให้มหานครนิวยอร์คยังคงรักษาการเป็นเมืองหลวงด้านแฟชั่นของโลก (Global Fashion Capital) ในช่วงการประชุม Annual Women’s Wear Daily CEO ครั้งที่ ๑๔ ณ โรงแรม Plaza โดยเน้นการพัฒนาสองแนวทาง คือให้มหานครนิวยอร์กเป็นเมืองศูนย์กลางที่ริเริ่มการรวมตัวกันของดีไชน์เนอร์และ เน้นให้เป็นเมืองศูนย์กลางที่ดึงดูดดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์

มหานครนิวยอร์กเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของโลกที่มีดีไซน์เนอร์ซึ่งมีความสามารถ ทำให้มีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ประกอบกับผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นอาทิเช่น Diane von Furstenberg, Terry Lundgren ผู้บริหารระดับสูงของห้าง Macy’sได้ช่วยสนับสนุนดีไชนเนอร์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถให้ริเริ่มการประกอบธุรกิจของตัวเอง

แม้ผู้ประกอบการจะมีแนวคิดริเริ่มที่สร้างสรรค์เพียงใด ในขั้นเริ่มต้นของการประกอบธุรกิจผู้ประกอบการจะต้องพบกับความเสี่ยง ซึ่งทางรัฐได้เล็งเห็นว่านิวยอร์กเป็นเมืองที่มีศักยภาพและสามารถเติบโตทางด้านแฟชั่นได้อีกภายในทศวรรษหน้า จึงได้ช่วยคิดค้นวิธีการที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถผ่านอุปสรรคในระยะเริ่มต้นธุรกิจไปได้ อาทิเช่น ภาวะทางการเงินในขั้นเริ่มต้นของการประกอบธุรกิจ, การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ และ ระบบการจัดการทางการตลาด

คณะผู้บริหารของมหานครนิวยอร์ก ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทางด้าน แฟชั่นและมีความสนใจที่จะประกอบธุรกิจเกี่ยวกับแฟชั่นว่าจะเป็นกลุ่มคนสำคัญที่จะทำให้หมานครนิวยอร์คพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางแฟชั่นของโลกในอนาคต และด้วยหกมาตรการนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าทางรัฐจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความสามารถทางแฟชั่นและทางธุรกิจให้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมแฟชั่นต่อไป

อุตสาหกรรมแฟชั่นในมหานครนิวยอร์กก่อให้เกิดการจ้างงาน ๑๖๕,๐๐๐ ตำแหน่ง นับเป็น ๕.๕ เปอร์เซ็นต์ของตำแหน่งการจ้างงานทั้งหมดและก่อให้เกิดรายรับจากภาษีถึงปีละ ๒,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันเมืองนิวยอร์กเป็นเมืองที่มีการค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดโลก ทำให้มีผู้คนเดินทางมาติดต่อและจัดแสดงงานโชว์สินค้าถึง มากกว่า๕๐๐,๐๐๐คนต่อปี New York City Economic Development Corporation ได้ทำการสำรวจและสัมภาษณ์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่นมากกว่า ๕๐๐ ราย อาทิเช่นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำ ผู้ค้าส่ง ผู้ค้ารายย่อย และดีไซน์เนอร์ การทำวิจัยครั้งนี้มีบริษัท Bain & Company เป็นผู้รวบรวมข้อมูล

สำหรับโครงการ FashionNYC2020 คณะดำเนินการประกอบด้วย
- ประธานโครงการคือ Richard Darling (CEO of LF USA)
- Diane von Furstenberg ( Chairman and Founder Diane von Furstenberg Studio President Council of Fashion Designers of America)
- Terry Lundgren (President and CEO of Macy’s Inc.)
- Andrew Rosen (CEO of Theory) Kevin Ryan (CEO of Gilt Group)

Ms. Diane von Furstenberg กล่าวขอบคุณ Mr. Bloomberg ในฐานะประธาน Council of Fashion Designers of America และดีไซน์เนอร์ที่มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กว่า Mr. Bloomberg และคณะผู้บริหารได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นเพราะเชื่อว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของนิวยอร์ก

Mr. Terry Lundgren ประธานและCEO ห้าง Macy’s กล่าวว่า ห้าง Macy’s มีความภูมิใจที่ได้เป็นผู้สนับสนุนหลักโครงการ FashionNYC2020 และเชื่อว่าการ อนุรักษ์ให้นิวยอร์ก เป็นเมืองหลวงทางแฟชั่นมีความสำคัญเนื่องจากจะช่วยส่งผลดีต่ออัตราการจ้างงาน ดึงดูดกลุ่มคนที่มีความสามารถทางด้านสร้างสรรค์จากทั่วโลก และกระตุ้นการท่องเที่ยวรวมถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยี ได้อย่างยั่งยืน

แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น ๖ โครงการ
๑. NYC Fashion Fund เป็นกองทุนที่ สนับสนุนการรวมตัวกันของดีไชน์เนอร์และผู้ผลิตในเมืองนิวยอร์กเพื่อช่วยเหลือดีไซน์เนอร์ให้เข้าถึงกลุ่มผู้ผลิตที่มีความสนใจตรงกัน และมีมาตรฐานการผลิตระดับสูง รวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเขียนแผนธุรกิจในระยะเริ่มต้นของการประกอบการ

๒. Project Pop-up เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เมืองนิวยอร์กคงไว้ซึ่งเมืองแห่งผู้นำทางการค้าปลีก และเป็นทำเลที่เหมาะแก่การเริ่มการค้าปลีก ร้านค้าปลีกที่ร่วมโครงการแข่งขันจะส่งแนวคิดสำหรับร้านค้าปลีกที่จะเปิดใหม่ และการค้าปลีก online ให้กับโครงการและผู้บริหารจะเลือกแนวคิดที่น่าสนใจ ผู้ที่ชนะการประกวด จะได้รับการช่วยเหลือและส่งเสริมให้แนวคิดนั้นเกิดขึ้นเป็นร้านค้าปลีกจริงขึ้น

๓. New York City Fashion Draft เป็นโครงการคัดเลือกนักเรียน/นักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาแฟชั่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อประชุมสัมมนาการสร้างนิวยอร์กให้เป็นฐานเศรษฐกิจแฟชั่น จากโครงการนี้นักเรียน นักศึกษาที่สนใจเกี่ยวกับแฟชั่นทั้งด้านโฆษณา, การตลาด, การผลิต และเทคโนโลยี จะมีโอกาสที่จะเข้าทำงานในตำแหน่งการบริหารจัดการกับบริษัทที่เข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อให้บรัษัทที่เข้าร่วมสามารถเลือกบุคคลากรที่มีความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของบริษัทได้ในเวลาอันสั้น

๔. Fashion Campus NYC เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักเรียน/ นักศึกษาเข้าร่วมโครงการฝึกงานในภาคฤดูร้อน โครงการฝึกงานจะประกอบด้วยการสัมมนาจากผู้บริหารในอุตสาหกรรมแฟชั่นโอกาสในการสร้างเครือข่าย ( networking opportunities)และฐานข้อมูล online เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและทำงานในนิวยอร์ก

๕. New York City Fashion Fellows เป็นโครงการที่จัดดูแลและติดตามผลเพื่อให้ผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านแฟชั่น 30 ราย (rising stars) ได้มีโอกาสพัฒนางานเกี่ยวกับภาคธุรกิจ และสามารถเติบโตในธุรกิจแฟชั่นได้ทั้งทางด้านการสร้าง network การวางแผนโฆษณา การทำการตลาด รวมไปถึงขั้นตอนการผลิต ด้วยโครงการนี้จะขยายผลให้เกิดการเติบโตธุรกิจแฟชั่นมากกว่า 900 ธุรกิจในนิวยอร์ก

๖. Designer as Entrepreneur เป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ทางด้านแฟชั่นแต่ขาดความรู้ทางภาคธุรกิจ โครงการจะเน้นการทำworkshop โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการพัฒนาแผนธุรกิจ, การบริหารจัดการด้านการเงิน, และ e-commerce.

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถส่ง E-mail เพื่อขอรายละเอียดและส่ง proposals ได้ที่ FashionRFP@NYCEDC.com หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ข้อมูลดีไชน์เนอร์รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับงานแสดงสินค้า และ Showroom สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.NYCFashionInfo.com


สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
๑๙ มกราคม ๒๕๕๔



No comments: