Tuesday, January 4, 2011
Thai News 1-4-11
ผู้นำเข้าปลาจากจีนถูกฟ้องเรื่องฉลากระบุสินค้า Kosher
สหภาพออร์โธดอกซ์ (Orthodox Union - OU) กำลังดำเนินการฟ้องร้องบริษัทผู้นำเข้าอาหารทะเลซึ่ง ตั้งอยู่ที่รัฐเพนซิลวาเนีย ณ Federal Court ในนครแมนฮัตตัน เรื่องแอบอ้างว่าได้รับการรับรองจาก OU ว่าสินค้าปลา Tilapia ที่นำเข้าเป็นสินค้า Kosher
แผนกด้าน Kosher ของ Orthodox Union ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ตั้งอยู่ที่นครแมนฮัตตัน ได้ยื่นฟ้องบริษัท Western Edge Inc. เรื่องละเมิดกฎหมายเครื่องหมายการค้า และฉ้อโกง ในการใช้ตรารับรองจดทะเบียนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยบริษัทได้ทำหนังสือปลอมแจ้งบริษัทอาหารใน Brooklyn รายหนึ่งเมื่อถูกถามเรื่องสถานะ Kosher ของปลา Tilapia Fillets
อย่างไรก็ตามบริษัทฯอ้างว่า หนังสือฉบับดังกล่าวมาจากโรงงานผลิตในประเทศจีน และการมีส่วนร่วมของบริษัทครั้งนี้ เป็นเพียงแค่ผู้ส่งหนังสือดังกล่าวเท่านั้น
สินค้าอาหาร Kosher ในตลาดสหรัฐฯ คาดว่ามีมูลค่าประมาณ ๑๓ พันล้านเหรียญฯ และใน ๕ ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ ๑๕%/ปี
ย่านใจกลางเมืองของนครนิวยอร์กเป็นย่านที่มีประชากรยิวอยู่หนาแน่นที่สุดในสหรัฐฯ จึงเป็นแหล่งรวมผู้ผลิตสินค้า Kosher ในขณะที่มีสินค้า Kosher ใหม่ๆออกมาสู่ตลาดเป็นพันๆรายการทุกปี ก็ยิ่งทำให้โอกาสที่มีผู้ทำความผิดเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทต่างชาติ ซึ่งบางครั้งเป็นปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจด้านวัฒนธรรมและภาษา หรือบางครั้งเข้าใจผิดว่าการได้ใบรับรองสินค้า Kosher หนึ่งสินค้า จะสามารถนำไปใช้ได้กับสินค้าทั้งหมดของบริษัทด้วย
ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานตัวแทนออกใบรับรอง Kosher ชั้นนำอยู่ ๕ หน่วยงาน และ ๓ ใน ๕ นั้นอยู่ในนครนิวยอร์ก ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯบอกว่าโดยปรกติแล้วจะสามารถแก้ไขข้อพิพาทได้โดยไม่ต้องถึงขั้นขึ้นศาล Rabbi Chaim Fogelman ผู้อำนวยการด้านการศึกษาและประชาสัมพันธ์ของ OK Kosher Certification ใน Brooklyn กล่าวว่า หน่วยงานนี้มีแผนกโดยพาะเพื่อจัดการปัญหาเรื่องการใช้ตราสัญญลักษณ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีเรื่องประมาณ ๑๐-๑๕ ราย/เดือน
Rabbi Menachem Genack ผู้บริหารและซีอีโอของ OU (แผนก Kosher) บอกว่า OU จะมีกรณีฟ้อง ร้องโดยเฉลี่ยหลายรายต่อปี เพราะถ้ามีกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Kashrut (กฎหมายด้านอาหารของยิว) หรือเรื่องละเมิดเครื่องหมายการค้า ทาง OU จำเป็นต้องปกป้องเรื่องนี้เต็มที่ มิฉะนั้นจะสียไปในอนาคต
ในคำยื่นฟ้อง ทาง OU ระบุว่ากรณีปลา Tilapia นี้ บริษัท Western Edge ได้ยื่นขอใบรับรองจาก OU สำหรับ Tilapia Fillets ที่ผลิตโดยโรงงานที่จังหวัด Hainan ในประเทศจีนเมื่อเดือน มีนาคม ๒๕๕๐ แต่หลายเดือนต่อมาคำขอได้ถูกถอนกลับไป ดังนั้นจึงถือได้ว่า สินค้าของบริษัท Western Edge ไม่ได้เป็นและไม่เคยเป็นสินค้าที่ได้ใบรับรอง Kosher จาก OU เลย
กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่ใคร่ขอเตือนผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย สินค้าอาหาร ว่าหากเป็นสินค้าที่ระบุว่าเป็น Kosher จะต้องได้รับใบรับรองจากหน่วยงานที่เป็นตัวแทน ให้ถูกต้องเรียบร้อยเสียก่อน มิฉะนั้นจะเกิดเรื่องฟ้องร้องกันได้ ดังตัวอย่างปลา Tilapia Fillets จากจีน
สมจินต์ เปล่งขำ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
๕ มกราคม ๒๕๕๔
_______________________________
สรุปการค้าไทย-สหรัฐฯ เดือนมกราคม –ตุลาคม 2553
การนำเข้าของสหรัฐฯจากทั่วโลกและจากไทย
สหรัฐฯนำเข้าจากทั่วโลกมูลค่า 1,576,843.99 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 24.14 และนำเข้าจากไทยมูลค่า 18,611.33 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 20.77
สหรัฐฯนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 19 ของการนำเข้า โดยคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 1.18% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้า 1.21%
การส่งออกของสหรัฐฯไปทั่วโลกและไปประเทศไทย
สหรัฐฯส่งออกไปทั่วโลกมูลค่า 1,047,565.94 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 21.52 และส่งออกไปไทยมูลค่า 7,249.76 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 30.07
สหรัฐฯส่งออกไปไทยเป็นอันดับที่ 28 ของการส่งออก โดยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 0.69% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 0.65%
ดุลการค้าของสหรัฐฯกับทั่วโลก และกับประเทศไทย
สหรัฐฯขาดดุลการค้ารวมมูลค่า 529,278.05 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 32.03 และขาดดุลการค้ากับไทยมูลค่า 11,361.57 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 15.50
_______________________________________________
ดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่ขายดีในสหรัฐอเมริกา
จากวารสาร Furniture World Magazine (On Line) ดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่ขายดีที่สุดในปีที่ผ่านมา ได้แก่
๑) MAC Motion Chairs เก้าอี้หนังโครงไม้ และมีส่วนประกอบเหล็ก
๒) Decor-rest เฟอร์นิเจอร์ Cobistyle บุด้วยผ้าสีสดใส กำมะหยี่, ลายดอกไม้ และลายเส้นเป็นแถบ
๓) Durham สไตล์Traditional Cottage คอลเลคชั่นใหม่ "Bayview" สำหรับความเป็นอยู่แบบสบายๆ
๔) Ameriwood สีขาวสำหรับห้องนอนแขกทำด้วยLaminated Particle Boardและอุปกรณ์Crystal
๕) Human Touch เก้าอี้แบบนวดได้คุณภาพสูง
๖) Boca Brands สบายๆสไตล์หัตถกรรมหวาย สำหรับห้องพักผ่อนนั่งเล่น
๗) F & N Woodworking เก้าอี้นั่งทานอาหาร "Breckenridge Style" ทำจากไม้เนื้อแข็ง Solid Oak, Cherry, Maple, Brown Maple และ White Oak
๘) Whittier ชั้นวางหนังสือเข้ามุมห้อง ทำจากไม้เนื้อแข็ง Solid American Alderand Red Birch
๙) Starbay สตูลนั่งกัปตันเรือ ทำจากไม้ Rosewood เคลือบเงา7 ชั้น และอุปกรณ์ทองเหลือง
๑๐) Perri โซฟาบุผ้า (หรือหนัง) ขาไม้
๑๑) Keystone โต๊ะแบบต่อปีกออกได้ จุดเด่นอยู่ที่อุปกรณ์ Log bolts ที่แข็งแรงแบบงานอุตสาหกรรม
๑๒) A.A. Laun โต๊ะวางของแบบมีลิ้นชักทำจาก Solid Maple English
๑๓) Dutailier นวัตกรรมเก้าอี้แบบใหม่ที่เลื่อนได้และปรับเอนได้โดยมีมี่วางเท้ายกขึ้นมาได้ บุผ้าและหนัง
๑๔) Rug (พรมแบบต่างๆ) :-
- Nourison Industries พรมทอมือ ลาย Abstract สมัยใหม่และรูปเลขาคณิตทำจากWool และ Viscose
- Mat Rugs พรมทอมือ "Cuadro" ทำด้วย Wool จากอินเดีย 100%
- Safavieh พรมทอมือสีฤดูใบไม้ร่วง ทำจากอินเดีย โดยใช้ New Zealand Wool
- Capel Rugs ทำจากใยธรรมชาติผสมใยสังเคราะห์
- Rizzy Home พรมทอมือทำจาก New Zealand Wool
- Feiza Rugs "Namche Collection" พรมถักมือด้วย Hand-Spun Wool ลวดลายแบบ Mahal, Samarkand และ Kazak สีสรรสดใสหลากหลาย
- Surya พรมทอมือทำจาก New Zealand Wool
- The Rug Market "Suzani from Avignon Collection" พรมทอมือขนสัตว์ สีสดใสสำหรับฤดูร้อน ทำจากอินเดีย
นางสมจินต์ เปล่งขำ
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
๗ มกราคม ๒๕๕๔
___________________________________________________
ประมวลสถานการณ์เหมืองโปแตซอุดรฯ
และข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
โดย...คณะทำงานศึกษาและติดตามโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี
ความขัดแย้งในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีซึ่งเกิดขึ้นมานานร่วม 10 ปี และสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ตัวการสำคัญคือหน่วยงานของรัฐ และบริษัทฯ ทำให้เกิดเงื่อนไขการเผชิญหน้าและปะทะกันกับประชาชนฝ่ายคัดค้านโครงการในพื้นที่หลายครั้ง แม้ชาวบ้านจะกระทำไปโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อปกป้องไว้ซึ่งฐานทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ แต่เหตุการณ์ผ่านไปหลายปี หน่วยงานรัฐ และบริษัทฯ กลับไม่เรียนรู้ ไม่ใส่ใจใยดี มีแต่จะเดินหน้าทำโครงการให้ได้แต่ฝ่ายเดียว
ประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากที่ยืดเยื้อยาวนานเรื่องใดบ้าง พอจะเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญๆ และสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้
1) เรื่องรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบในปี 2543 ทั้งๆ ที่กฎหมายแร่ใต้ดินออกมาบังคับใช้ในปี 2545 ชาวบ้านก็คัดค้านความไม่ชอบธรรมของ EIA ฉบับนี้จนนำไปสู่การนำรายงาน EIA ไปพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านโดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการชุดพิเศษที่แต่งตั้งโดย รมว.สิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2546 และมีข้อสรุปในประเด็นสำคัญคือ เป็นรายงานที่ผิดขั้นตอนที่ควรจะเป็นและเป็นรายงานที่ไม่มีคุณภาพทางวิชาการมากพอ มีความบกพร่องถึง 26 ประเด็น ภายหลังรายงานฉบับนี้ถูกยกเลิกไปเพราะบริษัทฯ ทนรับแรงกดดันจากสังคมไม่ได้
2) เรื่องรัฐบาลออกกฎหมายการทำเหมืองใต้ดินเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนเหมืองโปแตซ เพราะศักยภาพแหล่งแร่ที่จะทำเหมืองใต้ดินในประเทศไทยได้ก็มีแต่โปแตซและเกลือเท่านั้น ส่วนแร่อื่นๆ เช่น หินปูน ถ่านหิน ทองคำ เหล็ก ทองแดง ฯลฯ ล้วนอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการทำเหมืองแบบเปิดมากกว่า กฎหมายแร่ใต้ดิน หรือ พ.ร.บ.แร่ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2545 จึงมีสาระสำคัญเพื่อให้สามารถทำเหมืองใต้ดินได้โดยไม้ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินบนดิน โดยกำหนดให้การทำเหมืองใต้ดินที่อยู่ลึกเกิน 100 เมตร ถือว่าเลยแดนกรรมสิทธิ์ของประชาชนเจ้าของที่ดินบนดินไปแล้ว ลึกไปกว่านั้นจึงเป็นของรัฐที่จะให้ใครทำประโยชน์ก็ได้ โดยให้ประชาชนในเขตเหมืองเป็นเพียงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจจะมีผลกระทบจากการทำเหมืองเท่านั้น ถ้าจะพูดกันให้ชัดเจนตรงประเด็นก็คือ กฎหมายเหมืองใต้ดินถูกออกแบบมาเพื่อเหมืองโปแตซอุดรฯ เนื่องจากชั้นแร่โปแตซที่อุดรฯ อยู่ลึกลงไปประมาณ 300 เมตร เรื่องนี้มีความพยายามอย่างมากในการคัดค้านจากทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ สว. สภาทนายความ หรือแม้แต่คณะกรรมการสิทธิฯ แต่ก็ไม่เป็นผล
3) สัญญาสิทธิการสำรวจและผลิตแร่ที่ทำไว้ระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัทเหมืองแร่ตั้งแต่ปี 2527 เป็นสัญญาที่ผูกขาดเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อบริษัทต่างชาติ ทำให้รัฐบาลไทยและคนไทยเสียเปรียบ ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการเปิดเผยสัญญา และทบทวนสัญญา ต้องเรียกร้องขอข้อมูลอยู่นานจึงได้สัญญาทั้งฉบับมาศึกษา และสภาทนายความได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นสัญญาอัปยศอย่างไม่น่าเชื่อว่าคนไทยจะทำขึ้นเพื่อให้ประโยชน์กับต่างชาติอย่างมากมายขนาดนั้น จึงมีการเสนอให้ทบทวนสัญญาในปี 2546 แต่เรื่องนี้เงียบหายไปไม่มีใครพูดถึง ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญ
4) ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากโครงการ เพราะไม่สามารถยอมรับกระบวนการ EIA ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนดังที่ผ่านมาได้ จึงได้ช่วยกันศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจากโครงการเหมืองแร่โปแตซร่วมกับนักวิชาการหลากหลายสาขาในปี 2548 และกระบวนการนั้นได้ทำให้เกิดข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของไทย และนำไปสู่การกำหนดเรื่องการประเมินผลกระทบทางสุขภาพไว้ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรค 2
5) ในปี 2549 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิสิ่งแวดล้อมอุดรธานี 5 คนที่ถูกบริษัทเอเซียแปซิฟิคโปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด แจ้งความดำเนินคดีข้อหา “บุกรุกและทำลายทรัพย์สิน” จากการเข้าไปขัดขวางการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ เพราะกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วมกับบริษัทฯ ทำการรังวัดโดยไม่ได้ชี้แจงต่อประชาชนในพื้นที่ โดยกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ใช้ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านและ อบต. 19 คน เป็นนายประกันตัวผู้ต้องหา รวมหลักทรัพย์ 1,140,000 บาท และต้องสู้คดีนานนับปีศาลจึงยกฟ้องเมื่อปลายปี 2550 โดยศาลให้เหตุผลว่าชาวบ้านได้กระทำไปโดยถูกต้องชอบธรรมเพื่อปกป้องทรัพยากรของชุมชนอันเป็นสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540
6) ปี 2551 ได้มีความพยายามในการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมือแร่โปแตซทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ เพราะทัศนคติของส่วนราชการมีแนวโน้มที่จะต้องทำให้กระบวนการดำเนินโครงการมีความก้าวหน้า ซึ่งกำหนดให้เป็นวัตถุประสงค์หลักของคณะกรรมการ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในพื้นที่โครงการจึงไม่สามารถเข้าร่วมได้ และมีความพยายามหลายครั้งของคณะกรรมการที่จะจัดเวทีในพื้นที่เพื่ออ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องรังวัดปักหมุด และดำเนินการตามกฎหมายแร่ โดยเสนอแต่งตั้งนายอำเภอ ผู้กำกับฯ ทุกอำเภอเป็นกรรมการ เพื่อจะได้ใช้บทบาทของกรรมการที่กุมกลไกอำนาจและกำลังคน เข้าคุ้มกันเวทีและมีแนวโน้มว่าจะสลายฝ่ายคัดค้านโครงการหากมีการจัดประชุม ต่อมากรรมการชุดดังกล่าวก็ยุติบทบาทไป เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน
7) เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมายาวนาน ชาวบ้านในพื้นที่โครงการจึงเสนอให้มีการศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment: SEA) ในปี 2552 เพื่อเสนอทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่โปแตซอุดรธานีอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักคิดที่เอาพื้นที่อันมีศักยภาพของทรัพยากรอันหลากหลายเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาโครงการเป็นตัวตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่มักมีแนวความคิดที่คับแคบเอาโครงการที่กำหนดมาจากภายนอกชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง และไม่ได้มองถึงศักยภาพในการพัฒนาของฐานทรัพยากรอื่น หรือไม่ได้ศึกษาถึงศักยภาพและองค์ความรู้ของชุมชนในการจัดการและพัฒนาตนเองตามฐานทรัพยากรและนิเวศวัฒนธรรมในแต่ละพื้นถิ่น ซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้ง ข้อเสนอนี้อยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้าไปพิจารณาในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง กรณี ปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ แต่ก็ถูกช่วงชิงโอกาสจาก กพร. ที่เสนอทำ SEA เสียเอง โดยอ้างมติกรรมคณะการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปี 2549 ที่เสนอให้ทำ SEA แร่โปแตซทั้งภาคอีสานก่อนการทำรายโครงการ และ กพร. ก็อ้างว่าเป็นหน่วยงานโดยตรงที่ดูแลเรื่องทรัพยากรแร่ จึงมีความชอบธรรมจะทำ SEA ดังกล่าว ซึ่งหลักคิดเรื่อง SEA ของ กพร. นั้นแตกต่างอย่างมากกับข้อเสนอเรื่อง SEA ของฝ่ายประชาชน
8) ปี 2553 หลังจากมีข้อถกเถียงกรณีมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 เรื่องโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จะต้องทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) และผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) ก่อนดำเนินโครงการ และต้องให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบ ก็มีคณะกรรมการเกิดขึ้นชุดหนึ่งที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทำหน้าที่จัดทำบัญชีประเภทโครงการรุนแรงตามมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งได้ข้อสรุปว่ามี 19 โครงการ ในนั้นเหมืองแร่ใต้ดินก็ถือเป็นกิจการรุนแรงด้วย และคณะกรรมการชุดนี้ก็เสนอไปยังรัฐบาล แต่ท้ายที่สุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ตัดออกเหลือ 11 โครงการ และในนั้นโครงการเหมืองแร่ใต้ดินที่ออกแบบอุโมงค์ให้มีเสาค้ำยันและมีการถมวัสดุกลับก็ไม่ใช่โครงการรุนแรงอีกต่อไป เหมืองแร่โปแตซอุดรธานีที่ออกแบบการทำเหมืองตามนี้ จึงหลุดประเภทโครงการรุนแรง และไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) และไม่ต้องให้องค์การอิสระฯ ให้ความเห็น นับเป็นความสำเร็จชิ้นโตของบริษัทฯ และ กพร. ผ่านนักล็อบบี้ยิสต์ที่แฝงตัวอยู่ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ และนับเป็นความเจ็บปวดอีกครั้งหนึ่งของพี่น้องชาวอุดรฯ ที่ติดตามตรวจสอบเรื่องโปแตซมานับ 10 ปี เขาพิจารณาความรุนแรงกันเพียงแค่จะขุดอุโมงค์อย่างไร จะมีค้ำยัน หรือถมอะไรกลับหรือไม่เท่านั้น กรรมการฯ ไม่มองความรุนแรงบนดินเลย เช่น ผลกระทบจากฝุ่นเกลือจากการแต่งแร่ น้ำเกลือ-น้ำเสีย การแย่งน้ำชาวบ้านใช้ การจัดหาพลังงานไฟฟ้ามาให้ การขนส่งแร่ สภาพสังคมเปลี่ยน การใช้ที่ดินเปลี่ยน ฯลฯ ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงทั้งนั้น แต่กรรมการฯ กลับไม่สนใจ สนใจแต่เรื่องใต้ดิน จากเหตุการณ์นี้ทำให้บริษัทฯ คึกคักมีชีวิตชีวา และโหมโฆษณากระหน่ำทุกช่องทางว่าโครงการรเหมืองแร่โปแตซใกล้จะเกิดเต็มทีแล้ว คนอุดรฯ จะได้กลับบ้าน จะมีงานทำ จะร่ำรวย
จะเห็นได้ว่าเรื่องเหมืองแร่โปแตซที่ยังเป็นปัญหาอยู่และไม่มีจุดจบ ได้มีความพยายามช่วงชิงโอกาสระหว่างรัฐ (กพร.) ร่วมกับบริษัทฯ ฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายประชาชนในพื้นที่ตลอดมา หลายๆ กรณีอาจจะเรียกได้ว่า กพร. ได้พยายามทำทุกวิถีทางทั้งการปรับปรุงระเบียบขั้นตอนต่างๆ ที่เอื้อต่อบริษัทฯ แม้แต่การพยายามแก้ไขกฎหมายแร่ฉบับใหม่ให้มีขั้นตอนต่างๆ น้อยลง สามารถอนุญาตการทำเหมืองใต้ดินได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีแรงกดดันจากหลายฝ่ายจนต้องถอนร่างกฎหมายนี้ออกไปจาก ครม. นอกจากนี้ กพร. เองก็ยังพยายามดึงเอากิจการงานอื่นใดที่ตนไม่น่าจะต้องดำเนินการเอามาทำเสียเอง เช่น ดึงเอา SEA มาทำเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับบริษัทฯ โดยไม่สนใจว่าจะถูกข้อครหาว่าเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทฯ ที่ผ่านมา กพร. ยังไม่ได้แสดงถึงศักยภาพอะไรที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติ หรือแทบจะไม่สามารถคุ้มครองประชาชนจากผลกระทบของกิจการเหมืองแร่ได้เลย
ล่าสุดกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดปักหมุดขอบเขตเหมืองแร่อย่างเร่งรัดโดยใช้เวลาเพียง 2 วัน (ระหว่างวันที่ 30 – 31 ตุลาคม 2553) โดยปราศจากการปรึกษาหารือใดๆ กับประชาชนกว่า 20 หมู่บ้านในเขตพื้นที่ขอสัมปทานเหมืองและพื้นที่ใกล้เคียง แต่กลับใช้เวทีประชุมเพียงครั้งเดียวคือเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี โดยอ้างว่า ได้ชี้แจงการรังวัดปักหมุดกับประชาชนไปเรียบร้อยแล้วในวันที่ 29 ตุลาคม นั่นเอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นอธิบดี กพร. นายสมเกียรติ ภู่ธงชัย ได้บอกกับสื่อมวลชนว่าการประชุมวันที่ 29 ตุลาคม เป็นเพียงการประชุมเพื่อชี้แจงเรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่ฯ และการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายใต้รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 และเป็นการชี้แจงการจัดทำรายงานศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) โครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ได้ประชุมเพื่อชี้แจงการรังวัดปักหมุด
ในเวทีวันที่ 29 ตุลาคม ที่มีคนเข้าร่วมประมาณ 1,000 คนนั้น เป็นเพียงชาวบ้านที่ถูกฝ่ายบริษัทฯ เกณฑ์มาร่วมประชุมโดยมีค่าพาหนะให้คนละ 250 บาท ในเวทีก็ดูเหมือนว่าแทบไม่ได้มีการพูดถึงการรังวัดปักหมุดแต่อย่างใด มีเพียงข้อมูลในเอกสารเท่านั้น แต่วันถัดมากลับระดมเจ้าหน้าที่รังวัด ตำรวจ ตชด. อส. และเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ คุ้มกันการรังวัดและมีเหตุการณ์เผชิญหน้าและปะทะกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ อยู่ตลอด จนในที่สุด กพร. ก็ถูลู่ถูกังทำการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ แล้วเสร็จ หลังจากนั้น กพร. ได้ออกแถลงข่าวเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2553 ว่า กพร. ได้ทำการรังวัดเขตพื้นที่คำขอประทานบัตร (พื้นที่ขอสัมปทาน) โครงการเหมืองแร่โปแตซ ในเขตอุดรใต้ 4 แปลง พื้นที่ 26,446 ไร่ เสร็จแล้ว โดยใช้การจับพิกัดจากดาวเทียม (GPS) เมื่อถูกทวงถามว่าได้มีกระบวนการชี้แจงการรังวัดอย่างถูกต้องตามขั้นตอนกับประชาชนอย่างทั่วถึงหรือไม่ กพร. ก็ตอบว่าได้ชี้แจงไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา และกระบวนการรังวัดเสร็จสิ้นสมบูรณ์โดยไม่มีความขัดแย้งใดๆ พฤติกรรมของ กพร. โดยเฉพาะอธิบดีคนนี้ได้ดูถูกเหยียดหยามประชาชนคนอุดรฯ อย่างมิอาจอภัยได้ บิดเบือนตลบตะแลงอย่างกระหยิ่มยิ้มย่องในความภาคภูมิใจในผลงาน เป็นความภาคภูมิใจเยี่ยงมหาโจรของ กพร. ที่ได้ทำให้ขั้นตอนสำคัญนี้สำเร็จลุล่วงตามความปรารถนาของนายทุนเหมือง หลังจากกระบวนการนี้หยุดชะงักไปหลายปี และเป็นความภาคภูมิใจอย่างสุดประมาณของนายสมเกียรติ อธิบดี กพร. คนใหม่ที่เติบโตก้าวหน้ามาท่ามกลางความใกล้ชิดสนิทสนมกับบรรดานายทุนเหมืองทั้งหลายตั้งแต่สมัยอยู่กรมทรัพยากรธรณี
หลังจากรังวัดปักหมุดเสร็จก็ตามมาด้วยหนังสือจากบริษัทฯ ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ไปลงชื่อรับเงินค่าลอดใต้ถุนบ้าน ไร่ละ 1,000 บาท ทันที แถมมีหนังสือจากอุตสาหกรรมจังหวัด หรือ กพร.ท้องที่สำทับไปอีก ช่างเหมาะเจาะทำงานเป็นทีมกันได้ดีอย่างน่าประณามที่สุด เป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม เอาแต่คิดหาทางเข้าข้างฝ่ายนายทุน และทำให้ตนเองได้ประโยชน์ โดยไม่สนใจว่าชาวบ้านจะต้องเกิดความแตกแยกขัดแย้งในชุมชนอีกมากมายจากข้อเสนอดังกล่าวของบริษัทฯ คิดเพียงแต่ว่ามีเงินก็ซื้อทุกสิ่งได้
ขบวนการรังวัดปักหมุดนี้แม้ดูผิวเผินจะเป็นแค่เพียงการรังวัดขอบเขตเหมืองธรรมดาๆ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรให้ต้องคัดค้าน แต่จริงๆ แล้วการรังวัดขอบเขตเหมืองนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพราะหากรังวัดปักหมุดเสร็จก็จะสามารถขึ้นรูปแผนที่เพื่อเป็นเอกสารประกอบการอนุญาตสัมปทาน และสามารนำไปกำหนดเป็นขอบเขตในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือรายงาน EIA ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวว่าบริษัทฯ ได้ไปว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการศึกษา EIA เอาไว้แล้ว โดยในวันที่ 22 ธันวาคม 2549 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี กว่า 200 คน เดินทางรวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าอาคาร ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพื่อขอพบกลุ่มนักวิชาการที่มี รศ.ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฏ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการจัดการสิ่งแวดล้อม และสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเรียกร้องให้ยุติการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในโครงการเหมือแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ให้กับบริษัท อิตาเลียนไทย-ดีเวล๊อปเมนต์ (มหาชน) เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะต้องทำ EIA เนื่องจากยังไม่ได้มีการประชาคมชาวบ้านเพื่อชี้แจงการดำเนินโครงการอย่างทั่วถึง รวมทั้งการรังวัดปักหมุดกำหนดขอบเขตพื้นที่เหมืองและเรื่องอื่นๆ ที่สร้างความขัดแย้งและส่งผลกระทบต่อชุมชนก็ยังไม่ได้ดำเนินการ
ดังนั้น หากรายงาน EIA ได้ดำเนินการเอาไว้แล้วจริง หลังจากนี้ก็เพียงแต่เสียบแผนที่ขอบเขตผังเหมืองที่เพิ่งรังวัดเสร็จไปเมื่อ 31 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมาลงไปในเล่มรายงานก็เป็นอันเสร็จ ก็จะส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา เมื่อรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบก็จะกลายเป็นเอกสารประกอบขอสัมปทานที่สมบูรณ์ครบถ้วน แล้วเข้าสู่ขบวนการอนุญาตประทานบัตรต่อไปอย่างสะดวกดาย ทั้งๆ ที่จริงแล้วการศึกษา EIA จะต้องทำหลังจากรังวัดเสร็จ ไม่ใช่ไปแอบทำ EIA ก่อน แล้วมารังวัดทีหลังอย่างที่คาดว่ากำลังทำกันอยู่ การดำเนินโครงการอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาลจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 66 โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทั้งการวางแผน ตรวจสอบ ซักถาม แสดงความเห็น หรือคัดค้าน การลักไก่ครั้งนี้จึงเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันอย่างสมบูรณ์แบบระหว่าง กพร. กับนายทุนเหมือง และนักวิชาการที่รับใช้นายทุน
คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี และชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในพื้นที่โครงการต่างรู้ดีตลอดมาว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งจะต้องเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น เพราะเรื่องนี้ได้ส่อแววมาตั้งแต่เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งกระบวนการต่อสู้ของชาวอุดรฯ เพิ่งจะเริ่มต้น เมื่อรายงาน EIA เหมืองโปแตซอุดรฯ (ฉบับเดิม) ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ. ในขณะนั้น) ตั้งแต่ปี 2543 ทั้งๆ ที่กฎหมายเหมืองใต้ดินเพิ่งจะมีก็ตอนปลายปี 2545 รายงานฉบับนั้นจึงเป็น EIA เถื่อนในสายตาคนอุดรฯ เพราะทำ EIA เหมืองใต้ดินก่อนกฎหมายเหมืองใต้ดินจะออกมา แต่ทั้ง สผ. และ กพร. ก็โยนกันไปโยนกันมาไม่รับผิดชอบ ฝ่ายบริษัทฯ ก็ตะแบงว่าตนเองทำถูกต้องทุกอย่าง จนชาวบ้านทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นสู้ประท้วงและเรียกร้องไปแทบจะทุกหน่วยงานและแทบจะทุกกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม และสุดท้าย EIA ฉบับนั้นก็ถูกยกเลิกไปเพราะนอกจากจะเถื่อนในขั้นตอนแล้ว เนื้อหาสาระยังบกพร่องมากมายจนมิอาจยอมรับได้ในทางวิชาการ แต่หลังจากนั้นไม่นานชาวอุดรฯ ก็มิวายถูกลักไก่จากบริษัทฯ โดยมีข่าวว่าทางบริษัทฯ ไปแอบว่าจ้างมหาวิทยาลัยที่ว่านั้นให้ทำ EIA ใหม่ แต่เรื่องมันแดงขึ้นมาเมื่อบริษัทฯ และ กพร. เร่งรีบรังวัดขอบเขตเหมืองเพื่อจะทำให้ EIA ดำเนินการไปได้ กพร. ชาวบ้านจึงคัดค้านผลักดันขัดขวางเอาไว้ก่อนเพราะยังไม่มีการชี้แจงประชาคมตามหมู่บ้านต่างๆ ในเขตพื้นที่ขอสัมปทาน จนเกิดการปะทะกัน และนำไปสู่การฟ้องร้องชาวบ้านว่าบุกรุก ทำลายทรัพย์สิน แกนนำ 5 คน ถูกดำเนินคดี ถูกจับขังคุก โดยเฉพาะแกนนำแม่ลูกอ่อนที่ต้องเอาลูกไปนอนกินนมในคุกด้วย และสุดท้ายหลังต่อสู้คดีอยู่หนึ่งปี ศาลก็พิพากษายกฟ้องและชาวบ้านชนะคดีดังที่กล่าวมาข้างต้น หลังจากผ่านเหตุการณ์นี้มาได้ 3 ปี สุดท้ายด้วยการสมคบคิดกันอย่างไม่เคารพคนท้องถิ่น และด้วยผลประโยชน์แอบแฝงอื่นๆ ก็ทำให้ขั้นตอนการรังวัดปักหมุดนี้ผ่านไปได้อย่างไม่สง่างามและน่ากังขา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา
ดังนั้นก้าวต่อไปก็คือเอา EIA ที่ทำรอไว้แล้วมาสวม แถมยังไม่ต้องทำ HIA อีก เพราะไม่ใช่โครงการรุนแรงตามมาตรา 67 วรรค 2 และยังจะมี SEA ที่ กพร. เอาไปทำและคงได้ผลสรุปออกมาว่า ทางเลือกในการพัฒนาโปแตซในภาคอีสานที่ดีที่สุดคือ ทำเหมืองโปแตซที่อุดรฯ แล้วก็ให้ประทานบัตรกันไป แม้ว่าจะยังมีกฎหมายเหมืองใต้ดินอีกหลายมาตราที่จะต้องสู้กันอีกหลายด่าน แต่ก็จะมีสถานะเป็นขั้นตอนหน่อมแน้มไปในทันทีเมื่อเข้าสู่กระบวนการอนุญาตประทานบัตรที่มีทั้ง EIA, SEA และ แถมด้วย กพร. คอยการันตีหนุนหลัง อำนวยความสะดวกให้ รวมถึงอาจจะมีการแก้ไขระเบียบ กฎกระทรวง หรือ พ.ร.บ.แร่ ในอนาคตอันใกล้นี้เพื่อลดขั้นตอนและอุปสรรคในการทำเหมืองให้สามารถขอสัมปทานได้ง่ายขึ้น และหากจะกลับไปมองถึงต้นเหตุให้ลึกจริงๆ ก็ต้องบอกว่า เพราะสัญญาที่ทำกันไว้ตั้งแต่ปี 2527 บอกเอาไว้เป็นนัยๆ ว่า รัฐหรือหน่วยงานของรัฐต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้เหมืองเกิดขึ้น หรือหน่วยงานของรัฐจะต้องไม่ทำให้โครงการหยุดชะงักหรือมีอุปสรรคจนทำให้เหมืองไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งก็ความหมายอันเดียวกัน อันนี้คือพิษสงของสัญญาอัปยศที่ยังตามมาหลอนถึงทุกวันนี้และน่าจะชั่วฟ้าดินสลายตราบใดที่ยังไม่แก้สัญญากัน
การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชนช่างยากเย็นเสียจริงๆ ทั้งๆ ที่ตามครรลองของประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ตั้งอยู่ในหลักธรรมาภิบาล แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงหลักการที่สวยหรู ซึ่งนายทุน และส่วนราชการไม่เคยนำพา หรือไม่สนใจที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง การต่อสู้เรียกร้องของประชาชนชาวอุดรฯ อย่างต่อเนื่องมานานนับ 10 ปี ต่างหากที่สะท้อนให้เห็นสำนึกทางนิเวศวิทยาที่ก้าวหน้าอย่างน่าชื่นชม และประชาชนเหล่านี้ก็ทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าขึ้นตามมาด้วย ที่ผ่านมาได้มีหน่วยงาน บุคคล หรือองค์กรต่างๆ อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนนักวิชาการ องค์กรประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ ได้เข้ามาเรียนรู้ ศึกษา หนุนเสริมกระบวนการสิทธิชุมชนของชาวบ้านในพื้นที่ตลอดมา ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวในวงกว้าง ซึ่งในปี 2549 ก็ได้มีข้อเสนอจากหลายภาคส่วนในสังคมเพื่อเสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหา คือให้ยุติกระบวนการพิจารณารายโครงการ แต่ให้ทำการศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) เสียก่อน เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะเรื่องทรัพยากรเกลือและโปแตชในภาคอีสานอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2549 และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้จึงเป็นข้อเสนอที่มีความหมายในการจะสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นในจังหวัดอุดรธานีและภาคอีสาน แต่ก็ต้องระวัง เพราะ SEA ไปอยู่ในการควบคุมของ กพร. เสียแล้ว และคาดว่าอาจจะเอาเครื่องมือดีๆ อย่าง SEA ไปทำเสียของอีกเช่นเคย เหมือนกับ EIA ที่แทบไม่มีประโยชน์อะไรแล้วในปัจจุบัน
ดังนั้น กระบวนการอันใดของทางราชการที่มีผลต่อการทำให้บรรยากาศของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานีมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงควรจะยุติ และถึงอย่างไรก็ควรรอให้มีการทำ SEA แล้วเสร็จเสียก่อนน่าจะดีกว่า อย่างน้อยก็จะได้วิพากษ์วิจารณ์กันได้อีกสักรอบว่าทำ SEA เข้าทางนายทุนเหมืองหรือไม่ เพราะปากก็พูดจายึดมั่นในหลักการต้องทำ SEA ก่อน แต่ความจริงกลับทำตรงกันข้าม คือ กพร. ทั้งอนุญาต อนุมัติและทำ SEA ไปพร้อมๆ กัน พฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้ประชาชนไว้ใจได้อย่างไร
แม้ว่า กพร. จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าได้ดำเนินการปักหมุดแล้วเสร็จ และกำลังจะดำเนินการไปตามขบวนการทางกฎหมายให้อนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ต่อไป ขณะที่ความตึงเครียดกดดันในหมู่ประชาชนที่ต่อสู้ยาวนานนั้น พวกเขาล้วนรู้สึกว่าความเป็นคนของพวกเขาถูกย่ำยี พี่น้องชาวอุดรฯ ผู้รักและหวงแหนแผ่นดินทุกคนไม่อยากให้เกิดสถานการณ์แบ่งขั้วขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง จึงมีข้อเสนอดังนี้
1. ให้ยุติการขบวนการการอนุมัติ อนุญาตใดๆ ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีเอาไว้ก่อน จนกว่าจะทำการศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาตร์เกลือและโปแตชในภาคอีสานอย่างยั่งยืน (Strategic Environment Assessment: SEA) ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และมติคณะรัฐมนตรี จนแล้วเสร็จ
2. กระบวนการศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวต้องดำเนินการโดยองค์ที่มีความเป็นกลาง เป็นอิสระเพื่อจะสร้างความไว้วางใจและสามารถเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมได้อย่างเหมาะสม และไม่เห็นด้วยที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ซึ่งเป็นคู่กรณีขัดแย้งกับประชาชนจะดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ และเป็นต้นเหตุของวงล้อแห่งความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ
ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมอุดรธานี ต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ และเห็นว่าวิธีการนี้จะเป็นช่องทางที่ดีที่จะคลายปมขัดแย้ง และสร้างประชาธิปไตยจากฐานรากให้เข้มแข็ง ภายใต้การเคารพสิทธิของประชาชน...
_____________________________________________________
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment