Tuesday, February 5, 2013

ผลกระทบค่าเงินบาท


ผลกระทบค่าเงินบาทแข็งตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา

จากการสอบถามความเห็นของผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศไทย ที่อยู่ในเขตดูแลของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ได้ข้อสรุปดังนี้
 
๑. ผู้นำเข้าสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางด้านราคาในกลุ่มอาหารได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัวมาก เพราะสินค้าอาหารจากไทยเดิมมีราคาแพงอยู่แล้ว ภายหลังจากค่าเงินบาทเริ่มแข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยเริ่มปรับราคาสินค้าเป็นเหรียญสหรัฐสูงขึ้นไปด้วย เพราะไม่สามารถแบกรับการขาดทุนเป็นเงินบาทจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ ทำให้ราคาสินค้านำเข้าต่อหน่วยสูงขึ้นมาก ผู้นำเข้าบางรายไม่สามารถนำเอาสินค้าไทยมาขายได้ 100% และได้หาสินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงมาจำหน่ายทดแทน ทั้งนี้ หากปล่อยให้กลไกทางด้านราคาแตกต่างกันจนเกินไป เชื่อว่าสินค้าไทยอาจต้องสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งอย่างแน่นอน
 
๒. ข้าวเป็นสินค้าที่เริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ราคาที่สูงขึ้นเนื่องจากนโยบายจำนำราคาของรัฐบาล ราคาสินค้าของไทยเมื่อเทียบกับราคาคู่แข่งอื่นๆ ถือว่ามีราคาสูงมาก แต่ผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิที่ยังพอขายได้อยู่ ถึงแม้จะมีราคาแพง เพราะยังคงมีความต้องการรองรับในตลาดบน ถึงกระนั้นก็ตามเริ่มมีผู้นำเข้าหลายรายหันไปนำเข้าข้าวปทุมผสม ทำให้เกิดปัญหาร้องเรียนเรื่องข้าวปลอมปนตามมา ในอนาคตหากราคาข้าวหอมมะลิไของไทยยังคงสูงอยู่เช่นนี้ อาจมีผลให้ปริมาณการนำเข้าลดลง โดยผู้นำเข้าหันไปนำเข้าข้าวผสมที่มีราคาถูกกว่า หรือนำเข้าจากประเทศคู่แข่งเช่นเวียตนามแทน หากมีเรื่องค่าเงินบาทเข้ามาเพิ่มด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้นไปอีก และมีแนวโน้มจะเสียส่วนแบ่งตลาดในอนาคต

๓. ร้านอาหารไทยในนครนิวยอร์กและควีนส์ส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารในราคาไม่สูงมากจึงทำให้ทางร้านต้องแบกรับราคาค้นทุนสินค้าที่นำเข้าจากไทยเพิ่มสูงขึ้น ไม่สามารถผลักภาระไปยังผู้บริโภค ดังนั้น ร้านอาหารจึงต้องมองหาทางเลือกใหม่ในการใช้วัตถุดิบทดแทนวัตถุดิบจากไทย เช่น กะทิจากฟิลิปินส์/เวียดนาม น้ำมันหอยจากจีน น้ำปลาจากเวียดนาม ข้าวจากเวียดนาม/จีน เส้นก๋วยเตี๋ยวจากจีน เป็นต้น เพื่อช่วยลดต้นทุนของทางร้าน

๔. สินค้าในกลุ่มของตกแต่งบ้านได้รับอิทธิพลจากปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งตัวเช่นเดียวกัน เพราะผู้ส่งออกเพิ่มราคาขายเป็นเหรียญสหรัฐสูงขึ้น ทำให้สินค้าเริ่มเสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่ง ซึ่งผู้นำเข้าบางรายก็ได้เปลี่ยนแหล่งนำเข้าจากไทยไปยังจีน อินโดนีเซีย เวียตนามและฟิลิปปินส์บ้างแล้ว อย่างไรก็ดี สินค้าในกลุ่มงานฝีมือผู้นำเข้ายังคงไว้วางใจที่จะนำเข้าจากไทย ทั้งนี้ หากไทยไม่เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวผู้นำเข้าก็อาจจะไม่สามารถแบกรับภาระดังกล่าวได้ อาจต้องหาแหล่งผลิตใหม่มาทดแทน  
 
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

No comments: